กรุงเทพฯ 8 ส.ค.- กทม.รับปากเร่งประสานกระทรวงมหาดไทยตามข้อเรียกร้องของผู้ประสบภัยน้ำท่วม 6 เขต ในพื้นที่ กทม.ทั้งเงินเยียวยาค่าซ่อมแซมบ้าน 20,000 บาททุกราย ค่าอุปกรณ์ยังชีพ 15,000 บาท อุปกรณ์ประกอบอาชีพ 10,000 บาท
นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับผู้แทนชุมชนพื้นที่เขตหลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน ลาดพร้าว และเขตจตุจักร กรณีข้อร้องเรียนการให้เงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมไม่เป็นธรรมเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทั้ง 6 เขต มีน้ำท่วมขังสูงเกิน 90 ซม. และนานกว่า 2 เดือน ว่า ผู้แทนชุมชนทั้ง 6 เขต ได้ขอความเป็นธรรมกรณีเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมที่ได้รับไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้ กทม.ดำเนินการ จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้จ่ายเงินเยียวยาค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเป็นเงิน 20,000 บาท ทุกราย กรณีดังกล่าว กทม.ได้ทำหนังสือถึงสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำที่เสียหายบางส่วนทุกราย 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 55 แล้ว ซึ่งประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์ขอรับเงินเยียวยาเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขตหากคิดว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายในวันที่ 10 ส.ค. 55
2. ให้จ่ายเงินเยียวยาค่าอุปกรณ์ยังชีพ เครื่องนุ่งห่มอื่นๆ เป็นเงิน 15,000 บาททุกราย กรณีดังกล่าวไม่มีกรอบการพิจารณาในการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่ง กทม.จะเร่งหารือกับกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 14 ส.ค. 55 เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป 3. ให้จ่ายเงินเยียวยาค่าอุปกรณ์เครื่องมือประกอบอาชีพ เป็นเงิน 10,000 บาท ทุกราย กรณีดังกล่าว กทม.ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ข้อ 5.1 ข้อ 5.8 และข้อ 5.9 และถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ซึ่งประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์ขอรับเงินเยียวยาเพิ่มเติมได้ ภายในวันที่ 10 ส.ค. 55 เช่นกัน
4.ให้จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมแก่เจ้าบ้านที่มี สถานะเกิน 1 หลัง ทุกหลังเช่นเดียวกับบ้านหลังแรก กรณีดังกล่าวให้ผู้ประสบภัยที่มีบ้านหลายหลังประสานกับสำนักงานเขตเพื่อให้ข้อมูลบ้านว่ามีผู้อยู่อาศัย ไม่ใช่บ้านร้าง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป 5. ให้จัดตั้งตัวแทนประชาชน 5 คน เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยาเข้าร่วมตรวจสอบติดตาม กรณีดังกล่าว กทม.มีผู้ประสบภัยกว่า 200,000 คน จึงมอบหมายให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ ปิดประกาศการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อความโปร่งใสในการจ่ายเงินเยียวยา
6. ต้องไม่มีการดำเนินคดีความเอาผิดกับประชาชนกลุ่มชุมชนเรียกร้องเงินเยียวยาน้ำท่วมครั้งนี้ทุกกรณี ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และ 7. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่เหนือแนวบิ๊กแบ็กซึ่งป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั้งพื้นที่ เรียกร้องให้ กทม.พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เบื้องต้นเพื่อนำเสนอต่อ ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาช่วยเหลือเป็นพิเศษต่อไป.- สำนักข่าวไทย |