http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/28/60617-%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1-UN-Sustainable-Dev.html
ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
ในการประชุม UN Sustainable Development Summit 2015
ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘
|
ท่านประธาน
๑. ผมเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาล และชาวไทยที่จะร่วมกับประชาคมโลกทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้
๒. และยินดีมากที่วาระการพัฒนาใหม่ให้ความสำคัญกับ “คน” เพราะ “คน” เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด และเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การกระทำของเราเท่านั้น ที่จะกำหนดความอยู่รอดของคนรุ่นหลัง
๓. ทุกวันนี้ แน่ชัดแล้วว่า มนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติ
๔. รู้เช่นนี้แล้ว เราจำเป็นต้องตัดสินใจกันว่า จะยังคงบริโภคกันอย่างไม่ยับยั้งและมุ่งหวังแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใด ๆ หรือจะเลือกอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียง และสมดุล เราสามารถเลือกที่จะเคารพธรรมชาติ ไม่มองธรรมชาติเป็นทรัพย์สิน
๕. ทุกอย่างที่ผมกล่าวมานี้ คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน และได้ช่วยนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 เหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 และทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี พ.ศ. 2558-2563 และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป
๖. โลกยังประสบความท้าทายเร่งด่วน คือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหามากมาย เช่น ความยากจน การแย่งชิงทรัพยากร การโยกย้ายถิ่นฐาน และยังเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะความรุนแรงในสังคมได้
๗. การขจัดความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรมให้ทุกคนมีความเสมอภาค มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและการบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องมีกฏหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐด้วยหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส รวมทั้งขจัดการทุจริตและระบบอุปถัมภ์ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่จะสร้างความทัดเทียม เช่น กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ
๘. การขจัดความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของคนทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางสังคมให้กับกลุ่มเปราะบาง และได้จัดวางมาตรการต่าง ๆ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนครอบครัวยากจนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดรายเดือน รัฐบาลพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคลและครอบครัว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้สังคมมีความกลมเกลียวเหนียวแน่น
๙. ไม่แต่เฉพาะคนไทย รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือด้วย ปีที่แล้ว ไทยให้แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานกว่า 1.6 ล้านคน มาตรการนี้ช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
๑๐. แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลทั่วถึง รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้อมูลสถิติที่ครอบคลุมและจำแนกตามกลุ่มคน เพื่อกำหนดนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเหล่านี้อย่างแท้จริง
๑๑. เราต้องทำให้สังคมได้มองเห็นคนเหล่านี้ ต้องสร้างสังคมที่เมตตา เคารพในความเป็นมนุษย์ และยอมรับความเท่าเทียมกัน และปลูกฝังทัศนคติเหล่านั้นให้แก่ลูกหลานของเราตั้งแต่เยาว์วัย
๑๒. การขจัดความเหลื่อมล้ำต้องมาจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก โดยทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ขยายการลงทุนสู่ท้องถิ่นผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจะส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชนบท
๑๓. เรายังดูแลเกษตรกรของเราอย่างเต็มที่ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่
๑๔. ปัจจุบัน คนไทยทั่วประเทศมีงานทำแทบทุกคน และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Smart Job Centre ให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางในการหางานทำด้วย
๑๕. การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศผ่านความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เราจึงมุ่งที่จะสร้าง ความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่ง ภายใต้แนวคิด “ไทยบวกหนึ่ง”
๑๖. ในขณะเดียวกัน เราจะพัฒนาประเทศและภูมิภาคควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือกับเพื่อนของเรานอกภูมิภาคผ่านความร่วมมือใต้-ใต้ และความร่วมมือไตรภาคี
๑๗. เมื่อประชาชนและชุมชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย อีก 15 ปีข้างหน้า เราจะต้องเห็นโลกที่ความเหลื่อมล้ำและความยากจนลดน้อยลง ไทยพร้อมร่วมกับทุกประเทศ และองค์การสหประชาชาติในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็งไปด้วยกัน และอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
*****************
(ภาพจาก http://www.thaigov.go.th)
28 ก.ย. 2558 9:52:26 / อัพเดต : 28 ก.ย. 2558 12:18:40 / เรียกดู 348 ครั้ง